วิสัยทัศน์: โรงพยาบาลแห่งคุณภาพในดวงใจของประชาชน

โรงพยาบาลเดิมบางนางบวชก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 980,000 บาท (เก้าแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เพื่อสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอเดิมบางนางบวช ขนาด 10 เตียง ประกอบด้วยอาคารทำการ 1 หลัง และบ้านพัก จำนวน 4 หลัง สถานที่ก่อสร้างได้รับความอนุเคราะห์จากพระครูประโชติปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดเขาพระ ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ใช้ที่ดินว่างเปล่ามีพื้นที่ 15 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา โรงพยาบาลดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2520 ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 นางยิ้ม เกิดแก้ว บริจาคที่ดินเพิ่มอีก 2 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา และในปี พ.ศ. 2532 มูลนิธิเดิมบางนางบวช ได้จัดซื้อที่ดินข้างเคียงจำนวน 4 ไร่ 64 ตารางวา บริจาคให้โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช เพื่อใช้ขยายพื้นที่ส่วนของอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่และอาคารสนับสนุนบริการ รวมมีเนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา โดยย้ายการบริการด้านตรวจรักษาพยาบาลทั้งหมดจากสถานีอนามัยบ้านเขาพระ ซึ่งเป็นสถานที่เดิมและเปลี่ยนเป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเดิมบางนางบวช โดยมีแพทย์ประจำจำนวน 1 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 สมัย ฯพณฯ ทองหยด จิตตวีระ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 4,530,000 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและทางเชื่อมอาคาร ยกฐานะจากโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง

โดยชาวอำเภอเดิมบางนางบวชได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในขนาด 30 เตียงเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง โดยใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า อาคารล้วน-บุญเอื้อ สีตลกาญจน์ ซึ่งเปิดทำการในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2525 หลังจากนั้นมาโรงพยาบาลเดิมบางนางบวชได้ใช้งบประมาณและเงินบำรุงโรงพยาบาลในการสร้างอาคารและบ้านพักอีกหลายหลัง พร้อมทั้งครุภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ตามกรอบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมีความพร้อมในการบริการสาธารณสุขด้านต่างๆ ตามมาตรฐานการบริการของโรงพยาบาลชุมชน จากการที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลดำเนินงานโครงการสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งมีจุดประสงค์ส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง จำเป็นต้องให้มารดาพักโรงพยาบาลนานวันขึ้น เนื่องด้วยห้องคลอดของโรงพยาบาลเดิมบางนาบวช คับแคบไม่สามารถรองรับนโยบายนี้ได้ ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากชาวอำเภอเดิมบางนางบวช ในการร่วมบริจาคเงินและใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลบางส่วน จึงขออนุมัติกระทรวงสาธารณสุข สร้างตึกขนาด 30 เตียง เพื่อขยายเป็นห้องคลอด และขอยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง โดยได้รับการยกฐานะ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ปี พ.ศ. 2539 โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช ได้ดำเนินการเปิดโครงการศูนย์ดวงตาเดิมบางนางบวช โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจักษุวิทยา ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับตาในเขตรับผิดชอบของอำเภอเดิมบางนางบวช และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อช่วยลดความพิการและการสูญเสียดวงตาในผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคตาเป็นจำนวนมาก ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ตลอดจนการผ่าตัดผู้ป่วยแบบครบวงจรทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีคุณภาพ ทั้งด้านความสะดวกในการรับบริการรักษาพยาบาลโรคตาที่ถูกต้องและเหมาะสม ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาล

โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช ได้พัฒนาขยายการบริการอย่างต่อเนื่องทำให้มีประชาชนมารับบริการเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2541 ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ด้านงบประมาณค่าก่อสร้าง เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 60 เตียง เป็นอาคาร 2 ชั้น เพื่อยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง จากความมุ่งมั่นในการให้บริการของผู้บริหารและทีมบุคลากรของโรงพยาบาล ประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบเพื่อขยายอาคารจาก 2 ชั้น เป็น 3 ชั้น เมื่อดำเนินการแก้ไขแบบแปลนสำเร็จแล้วได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการผู้ป่วยเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2544

นอกจากการบริการการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 นี้ยังได้ขยายการบริการ โดยเปิดให้บริการแพทย์แผนไทย ก่อสร้างอาคารแพทย์แผนไทยและขยายอาคาร สถานที่บริการ เตียงนวด เครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริการแพทย์แผนไทยด้วยเงินบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานจากประชาชนในพื้นที่ ทำการพัฒนาปรับปรุงการบริการด้านการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุข การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้ประชาชนในเขตอำเภอเดิมบางนางบวชและในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้อนุมัติให้โรงพยาบาลเดิมบางนางบวชได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงสำหรับบริการประชาชนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2550

42411